วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

unit 5-6


บทที่ 5
การจัดทำแผนธุรกิจ
1. ความหมายและความสำคัญของแผนธุรกิจ
2. ประเภทของแผนธุรกิจ
3. องค์ประกอบของแผนธุรกิจ
4. ลักษณะของแผนธุรกิจที่ดี
5. การจัดทำแผนการตลาด
6. การจัดทำแผนการผลิต
7. การจัดทำแผนการบริหารจัดการ
8. การจัดทำแผนการเงิน

ความหมายและความสำคัญของแผนธุรกิจ
แผนธุรกิจ (Business Plan) เป็นกระบวนการคิดและตัดสินใจของผู้ประกอบการที่แสดงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยแผนจะแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ทางด้านการตลาด การผลิต การประมาณการทางการเงิน และการบริหาร
ความสำคัญของแผนธุรกิจ มีดังนี้คือ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจน
ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นเครื่องมือที่จะแสวงหาเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุน สถาบันการเงิน เกิดความชัดเจนด้านวิสัยทัศน์/พันธกิจ/เป้าหมายของธุรกิจ ทำให้มีรายละเอียดในด้านการจัดการธุรกิจ ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน

ประเภทของแผนธุรกิจ
1. แผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน
2. แผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ
3. แผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจ
4. แผนธุรกิจที่ใช้ในการศึกษา
5. แผนธุรกิจที่ใช้ในการประกวดแข่งขัน
องค์ประกอบของแผนธุรกิจ
บทสรุป วัตถุประสงค์ในการนำเสนอแผนธุรกิจ ความเป็นมาของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด แผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต แผนการเงิน แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง

ลักษณะของแผนธุรกิจที่ดี
1. การก่อตั้งธุรกิจมีความชัดเจนขนาดไหน โครงการนี้น่าลงทุนหรือไม่
2. มีแนวโน้มหรือโอกาสที่ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
3. มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันมากน้อยเพียงใด
4. สินค้า/บริการที่จะผลิตมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
สามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
5. หน้าที่ต่าง ๆ เช่นการผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน
มีการจัดการที่ดีเหมาะสมเพียงใด
6. จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่

การจัดทำแผนการตลาด
แผนการตลาด เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน เป็นการแสดงรายละเอียดวิธีในการเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด แผนการตลาดจะเกี่ยวกับ เป้าหมายทางการตลาด การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลยุทธ์ทางการตลาด 4 P’s กิจกรรมหรือการดำเนินการทางการตลาด

การจัดทำแผนการผลิต
แผนการผลิตที่ดีต้องสะท้อนความามารถขององค์กรในการจัดการกระบวนการผลิตและปฎิบัติการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นการจัดการไปยังกระบวนการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิต

การจัดทำแผนการบริหารจัดการ
แผนการบริหารจัดการ เป็นการกำหนดโครงสร้างองค์กร และผู้บริหารที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจด้านอื่น ๆ ของกิจการ

การจัดทำแผนการเงิน
การวางแผนการเงินจะเกี่ยวข้องกับแหล่งที่ได้มาและใช้ไปของเงินทุน งบการเงินต่าง ๆ และ การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน

การจัดทำแผนฉุกเฉิน
แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง เป็นการบอกถึงเรื่องที่อาจเกิดการผิดพลาด ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยังมีแผนอื่นมารองรับที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้



บทที่ 6
ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ
1. การดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด
2. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. SMEs กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4. เกษตรทฤษฎีใหม่: การดำรงชีวิตแบบพอเพียง
5. คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

การดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด
ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ผู้ผลิตมีเสรีภาพในการประกอบการและผู้ซื้อมีจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไร จำนวนเท่าใด ในขณะที่ผู้ซื้อก็พิจารณาเช่นกันว่าจะซื้ออะไร จำนวนเท่าใด ราคาเท่าใด โดยมีกลไกของอุปสงค์และอุปทานเป็นเครื่องกำหนดทิศทาง การดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนอกเหนือจากการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาภาวะดุลยภาพของตลาด โดยจะต้องนำเอาอุปสงค์และอุปทานมาวิเคราะห์ร่วมกันประกอบการพิจารณาในการตั้งราคา

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ความพอเพียงนั้นประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และ เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรมเป็นพื้นฐาน

SMEs กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การวางรากฐานในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีความเข้มแข็งอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการควรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยเน้นที่การพัฒนาคน เป็นเบื้องต้นเพื่อให้คนมีคุณภาพ มีความสามารถในการประกอบอาชีพจะได้ประกอบกิจการต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงในชีวิต เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อนำไปสู่การพึงพาตนเองของ SMEs

เกษตรทฤษฎีใหม่: การดำรงชีวิตแบบพอเพียง
เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนซึ่งเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม เกษตรทฤษฎีใหม่มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ แบบพื้นฐานซึ่ง เป็นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว และแบบก้าวหน้า เป็นความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ
คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ เป็นการยึดคุณธรรมนำความรู้ สร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันทน์ สันติวิธี วิถีประชาธิปไตย พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐาน โดยมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข ซึ่งประกอบด้วย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ